โลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบ เข้าใจง่าย

โลจิสติกส์และซัพพลายเชนคืออะไร

               จากนิยามของ The Council of Logistics Management (CLM) ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาชีพทางด้านโลจิสติกส์ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา การเคลื่อนย้าย การวางแผน การนำไปปฏิบัติต่อกระบวนการทางธุรกิจ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

               จากคำนิยามข้างต้นจะเห็นได้ว่า โลจิสติกส์เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนของกิจกรรมหรือกระบวนการที่แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนของกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งเราอาจจะเปรียบเทียบกระบวนการด้านโลจิสติกส์ว่าเป็นเสมือนการไหลของน้ำที่เริ่มจาก “ต้นน้ำ” ไปสู่ “ปลายน้ำ” หรือจากต้นทางการผลิตไปสู่ผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น หากต้องการศึกษาถึงกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตลูกชิ้นหมู กระบวนการตั้งแต่เริ่มการผลิตไปจนถึงการได้มาซึ่งผลผลิตจะมีกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมทางโลจิสติกส์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในทุกขั้นตอน

               ตัวอย่างการผลิตลูกชิ้นหมู กระบวนการได้มาซึ่งผลผลิตหรือลูกชิ้นหมูจะต้องเริ่มต้น จากแหล่งผลิตวัตถุดิบ(ต้นน้ำ) ประกอบด้วยส่วนประกอบทั้งเนื้อสัตว์ แป้ง รวมไปถึง เครื่องปรุงต่างๆนำมาสู่กระบวนการผลิตในรูปแบบโรงงานหรือครัวเรือน จากนั้นทำการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าเพื่อนำสินค้าเดินทางไปสู่ผู้บริโภค(ปลายน้ำ)อันเป็นปลายทางของกระบวนการต่างๆเหล่านี้อยู่ในรูปของโลจิสติกส์และซัพพลายเชนทั้งสิ้น

               หากว่าเราสามารถบริหารจัดการกระบวนการไหลของสินค้าเหล่านี้ได้ดีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมนำมาซึ่งศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดที่ดี การใช้กระบวนการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยให้กระบวนการบริหารจัดการมีความคล่องตัวมากขึ้นที่สุด แล้วจะนำมาซึ่งสำเร็จทางธุรกิจนั่นเอง

 

โลจิกส์ติกส์และซัพพลายเชนแตกต่างกันอย่างไร

               หลายคนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างโลจิสติกส์และซัพพลายเชน บางคนเข้าใจว่าโลจิสติสก์เป็นเรื่องของระบบการขนส่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงกระบวนการของโลจิสติกส์ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งด้านการผลิต การวางแผนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ คลังสินค้า การกระจายสินค้า เป็นต้น

               กระบวนการทางโลจิสติกส์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว หากแต่อยู่ในรูปของกิจกรรมที่แต่ละภาคส่วนแยกกันทำต่างหาก ไม่ได้มีการนำมาจัดรวมเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 การที่สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการสงคราม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีกระบวนการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการส่งกำลังบำรุงทางการทหารและเป็นประเทศแรกๆที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังสงครามจบสิ้น ต่อมาการจัดการโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบได้แพร่หลายไปทั่วโลกทั้งในระดับเอกชนระดับประเทศ รวมไปถึงระดับนานาชาติ ทั้งนี้ก็ด้วยการเห็นประโยชน์และความสำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์

               ส่วนซัพพลายเชนเป็นแนวคิดใหม่ หมายถึง ระบบเครือข่ายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต (ต้นน้ำ) ไปจนถึงผู้บริโภค (ปลายน้ำ) ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบเครือข่ายที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องหรืออยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน หากส่วนใดส่วนหนึ่งอ่อนแอย่อมส่งผลให้ระบบหรือห่วงโซ่นั้นอยู่ในภาวะอันตรายและเสี่ยงต่อความล้มเหลวได้

               สรุปได้ว่า ซัพพลายเชนคือระบบเครือข่ายที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกๆกิจกรรมของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนโลจิสติกส์คือระบบที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้กิจกรรมหรือธุรกิจนั้นสามารถดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

บทบาทและความสำคัญของศาสตร์ที่เรียกว่า “โลจิสติกส์”

               หากเราให้ความหมายของโลจิสติกส์ว่า คือการวางแผนการประสานงาน รวมไปถึงการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆของธุรกิจแล้ว จะพบว่ากิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นกระบวนการที่มีการดำเนินการอยู่แล้วตั้งแต่อดีต หากแต่ไม่มีการนำเอากิจกรรมต่างๆเหล่านี้มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเท่านั้นเอง ซึ่งหากว่าใครสามารถใช้ระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วย่อมเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าในทุกระดับ

               โลจิสติกส์ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เพราะโลจิสติกส์ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ หากว่ามีการพัฒนาและใช้กระบวนการด้านโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจนั้นๆ รวมถึงจะส่งผลสืบเนื่องไปถึงการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เพราะประสิทธิผลของกระบวนการด้านโลจิสติกส์ที่ดีจะส่งผลให้เราสามารถกำหนดประโยชน์ทางด้านเวลาและสถานที่ในการประกอบกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจได้ตามต้องการ ทั้งเวลา สถานที่ สภาพของสินค้า รวมถึงต้นทุนที่ต้องการด้วย

               ประเทศที่ประสบความสำเร็จเรื่องการบริหารจัดการงานด้านโลจิสติกส์คงหนีไม่พ้นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้สหรัฐอเมริกามีศักยภาพในการแข่งขันมากกว่าประเทศอื่น

               ในโลกที่มีการแข่งขันสูงด้านธุรกิจในปัจจุบัน หลายประเทศหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการด้านโลจิสติกส์กันอย่างจริงจัง เพราะเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ดีว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับองค์กรได้ โดยเฉพาะในโลกของโลกาภิวัตน์ หรือที่เราเรียกกันว่าโลกไร้พรมแดนนี้ การค้าขายระหว่างประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

               สรุปได้ว่า กระบวนการบริหารจัดการด้านโลจิสติสก์มีบทบาทและความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสร้างความเข้มแข็งและความมั่งคงให้กับธุรกิจ หากแต่โลจิสติกส์เป็นศาสตร์ใหม่ที่อาจสร้างความสับสนให้กับผู้ที่ไม่คุ้นเคยอยู่บ้าง ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต